วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2561

จริงดิ...ไวน์แดงมีประโยชน์ต่อหัวใจ? อย่าอ่านแค่พาดหัว


Advertisements


เพื่อนฝูงหลายคนที่ชอบกินเหล้ามาคุยอวดว่าผลวิจัยของผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศยืนยันนั่งยันแล้วว่าการดื่มไวน์แดงเป็นประโยชน์ต่อหัวใจ

ผู้คนที่ฟังแค่นั้นก็รีบวิ่งไปหาไวน์แดงมาดื่มกันเป็นการใหญ่ ส่วนคนที่ก๊งเหล้าเป็นประจำก็มีข้ออ้างขึ้นมาใหม่, ตั้งวงดวดแอลกอฮอล์คราใด, ก็จะอ้างผลวิจัยที่ว่านี้มาเป็นเหตุผลที่จะต้องตั้งหน้าตั้งตา “ออกกำลังกายด้วยการยกแขน” (เพื่อกรอกเหล้าในปากตัวเอง)

แต่ขอเตือนทุกท่านก่อนที่ใครจะมาบอกกล่าวข่าวที่ “จริงเพียงครึ่งเดียว” ว่าด้วยไวน์แดงกับโรคหัวใจว่าอย่าได้หลงเชื่อ (เพราะอยากจะเชื่ออยู่แล้ว) จนถอนตัวไม่ขึ้นเพราะไม่ยอมสร่างเมาเสียที

ผมเคยอ่านบทสัมภาษณ์หมอหัวใจคนดังของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดชื่อ Dr Thomas H. Lee ในนิตยสารนิวสวีคที่ตอบคำถามเรื่องนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว จึงขอถ่ายทอดมาให้แฟน ๆ ชาวชีวจิตได้รับทราบเพื่อไม่กลายเป็นเหยื่อของข้อมูลครึ่ง ๆ กลาง ๆ ที่อ่านแค่พาดหัวข่าวเท่านั้น

ถาม...ไวน์ดีสำหรับสุขภาพจริงหรือ? ถ้าจริง, เราควรจะดื่มวันละเท่าไหร่?

ตอบ...ไม่มีใครควรจะเริ่มต้นดื่มแอลกอฮอลด้วยจุดประสงค์เพื่อทำให้สุขภาภาพของตัวเองดีขึ้น (แปลว่าถ้าไม่ดื่มเหล้าอยู่แล้ว, ก็อย่าได้ริอ่านหาทางกินเหล้าเป็นประจำเพราะเชื่อว่าการทำเช่นนั้นจะช่วยให้สุขภาพของตัวเองดีขึ้น) และแต่เดียวกันก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่คนที่ดื่มเหล้าในประมาณพอประมาณจะหยุดดื่มทั้งหมด

ถาม...คำว่า “พอประมาณ” คือเท่าไหร่?

ตอบ...”พอประมาณ” (moderate) หมายถึงหนึ่งหรือสองจอกสำหรับผู้ชาย และหนึ่งจอกสำหรับผู้หญิง (หมอคนนี้ใช้คำว่า “one or two drinks” ในภาษาอังกฤษซึ่งปริมาณหนึ่งดริ้งก์คือเท่าไหร่แน่ ๆ ก็ย่อมจะขึ้นอยู่ที่ว่าแก้วเหล้าคุณใหญ่หรือเล็กแค่ไหนเช่นกัน)...ที่บอกว่าผู้หญิงควรจดื่มน้อยกว่าผู้ชายนั้นก็เพราะสัดส่วนของร่ายกายที่เล็กกว่า ไม่ได้เกี่ยวกับเพศของคนดื่มโดยตรง

ถาม...ทำไมคนดื่มพอประมาณจึงมีอัตราเป็นโรคหัวใจน้อยกว่าคนอื่น?

ตอบ...อาจจะเป็นเพราะว่าแอลกอฮอลมีส่วนทำให้ยกระดับของโคเลสโทรอลแบบ HDL (ที่เรียกว่าโคเลสโทรอลแบบดี) ให้สูงขึ้น และนักวิจัยบางคนบอกว่าที่ไวน์แดงดูเหมือนจะมีผลทางด้านบวกในเรื่องนี้ก็เพราะมันมีสารที่สามารถปกป้องผนังเส้นเลือดหัวใจที่เรียกว่า flavonoids และสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) อื่น ๆ แต่ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน New England Journal of Medicine เมื่อปี ๒๐๐๓ พบว่าแอลกอฮอลเกือบทุกชนิดก็มีประโยชน์แบบเดียวกันเช่นนี้เฉกกัน
Advertisements


ถาม..ถ้าแอลกอฮอลมันมีประโยชน์ต่อหัวใจอย่างนี้, ยิ่งดื่มมากมิยิ่งดีหรือ?

ตอบ...สำหรับเจ้าแอลกอฮอล์แล้ว, ตรรกะอย่างนี้ใช้ไม่ได้ เพราะพอมันมีมากเกินไป, แอลกอลฮอล์ก็ไปทำให้อัตราความเสี่ยงของโรคหัวใจสูงขึ้นเพราะความดันโลหิตจะพุ่งขึ้นและกล้ามเนื้อของหัวใจก็จะอ่อนแอลง อีกประการหนึ่ง, แอลกอฮอล์มีแคลอรี่สูงมาก, ดังนั้น ใครที่ดื่มมากก็จะมีแนวโน้มที่น้ำหนักจะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว และนั่นก็จะเพิ่มความเสี่ยงกับการทำให้เป็นโรคเบาหวานได้

นี่คือคำแนะนำที่ชัดถ้อยชัดคำที่สุดในประเด็นนี้ตั้งแต่มีการออกข่าวเป็นระยะ ๆ ว่าใครอยากจะป้องกันโรคหัวใจก็ให้ดื่มเหล้าโดยเฉพาะไวน์และผู้สันทัดกรณีในวงเหล้าอ้างผลการวิจัยต่ออีกว่าจะต้องเป็น “ไวน์แดง” เสียด้วย

แต่ความจริงมิได้เป็นอย่างที่เล่าต่อกันปากต่อปากแต่อย่างไรไม่ เพราะของดี ๆ นั้นมักจะเป็นดาบสองคมเสมอ,ไม่ว่าจะเป็นไฟหรือน้ำ...อะไรที่มีคุณอนันต์ก็ย่อมมีโทษมหันต์เช่นกัน

ดังนั้น, ใครก็ตามที่มาบอกคุณว่าดื่มไวน์แล้วหัวใจจะดี, ก็อย่าได้เชื่อเขาทั้งหมด เพียงรับทราบว่ามีการศึกษาวิจัยในหัวข้อนี้ที่ปรากฎผลออกมาว่าในไวน์แดงมีสารบางชนิดที่ต่อต้านอนุมูลอิสระที่เป็นศัตรูต่อหัวใจได้

แต่อย่าได้ไปด่วนสรุป (เพราะพวกขี้เมาอยากจะสรุปอย่างนั้นอยู่แล้ว) ว่าการกินเหล้าเป็นหนทางแห่งการป้องกันปัญหาโรคหัวใจ

หรือคนที่มีปัญหากับสุขภาพทางใจของตัวเองเกิดหลงเชื่อเพียงเพราะอ่าน “พาดหัวข่าว” แล้วไปปักหลักตั้งวงเหล้าเพื่อก๊งเป็นประจำทุกค่ำคืน, ก็จะตายเร็วขึ้น เพราะเขาอาจจะไม่ตายจากโรคหัวใจ แต่ไม่ช้าไม่นานก็อาจจะตายด้วยโรคตับหรือไม่โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงก็จะถามหาอย่างร้อนรน

ความจริง, เจ้า “antioxidants” ที่หมอทั้งหลายเชื่อว่าสามารถต่อสู้กับโรคร้ายทั้งหลายในร่างกายของเรานั้นสามารถหาได้จากอาหารต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นไวน์หรือเหล้า...เช่นพืชผักผลไม้ที่ถูกกว่าเหล้าและมีผลข้างเคียงอย่างอื่นน้อยกว่ามากมายนัก

ดังนั้น, ถ้าเพื่อนของคุณมาชวนไปก๊งเหล้าโดยอ้างผลวิจัยทางการแพทย์ว่าจะทำให้หัวใจแข็งแรงก็บอกเขาไปด้วยว่า

สองจอกแรกพอจะกล้อมแกล้มว่ามีประโยชน์ต่อหัวใจได้

แต่พอจอกที่สาม, ก็จะกลายเป็นการเริ่มผูกมิตรกับยมบาลเข้าแล้ว...ขอลากลับบ้านก่อน, ปลอดภัยกว่าเป็นไหน ๆ

ที่มา ... oknation.net/blog/suthichai
Advertisements


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น